ระดับของน้ำใต้ดิน

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกๆ ท่าน

เหมือนเช่นเคยในวันนี้ผมจะขออนุญาตมาทำการเสวนาถึงคำถามประจำสัปดาห์ โดยที่คำถามประจำสัปดาห์ที่ผมได้ให้ไปเมื่อวานนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องความรู้และวิธีในการอ่านข้อมูล ซึ่งจะรวมไปถึงการนำข้อมูลจากผลการทดสอบดินหรือ BORING LOG ไปใช้งานและเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ทำการโพสต์ อธิบาย รวมถึงยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องวิธีการในการคำนวณหาค่าความสามารถในการรับกำลังแบกทานของดินตามวิธีการของ TERZAGHI ให้แก่เพื่อนๆ ได้รับทราบกันไปแล้ว โดยที่ปัญหาที่ผมได้ทำการหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในวันนั้นและวันนี้จะมีรายละเอียดต่างๆ เหมือนกันเกือบทุกประการยกเว้นเพียงสิ่งๆ เดียวนั่นก็คือ ปัญหาประจำสัปดาห์ในวันนี้ผมจะทำการเพิ่มเติมรายละเอียดในเรื่อง “ระดับของน้ำใต้ดิน” เพิ่มเติมเข้าไปด้วยนั่นเอง ซึ่งรายละเอียดของคำถามประจำสัปดาห์นี้ก็คือ

มีฐานรากแผ่รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 3.00 x 3.00 เมตร โดยจากผลข้อมูลจากการทำการสำรวจดินพบว่า ระดับของน้ำใต้ดินนั้นจะอยู่ลึกลงไปเท่ากับ 1.00 เมตร จากระดับของผิวดิน โดยที่ดินข้างล่างนี้เป็นดินที่มีลักษณะเป็นเหนียวที่มีค่า Ø เท่ากับ 28 องศา โดยที่ดินจะมีค่าความถ่วงจำเพราะเท่ากับ 2 ค่าสัดส่วนความพรุนของดินเท่ากับร้อยละ 20 ค่า c เท่ากับ 2 ตันต่อตารางเมตร และสุดท้ายก็คือค่าหน่วยน้ำหนักของดินเท่ากับ 1.50 ตันต่อลูกบาศก์เมตร หากว่าระดับของฐานรากแผ่ฐานนี้มีการวางตัวอยู่ที่ระดับ 2.00 เมตร จากระดับของผิวดิน ผมจะกำหนดให้ใช้ค่าสัดส่วนความปลอดภัยเท่ากับ 3.00 ในการคำนวณ หากฐานรากฐานนี้จะต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักในแนวดิ่งลงมาจากตอม่อทางด้านบนซึ่งเป็นน้ำหนักบรรทุกใช้งาน มีค่าเท่ากับ 400 ตัน ฐานรากต้นนี้จะมีความปลอดภัยต่อการรับน้ำหนักหรือไม่ ?

 

โดยการเริ่มต้นก็อาจจะทำได้เหมือนปัญหาที่ผมได้นำมายกตัวอย่างไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานะครับนั่นก็คือ ทำการตรวจสอบก่อนว่าจะมีความเหมาะสมหรือไม่หากจะนำวิธีการของ TERZAGHI มาใช้ในการคำนวณหาค่ากำลังรับแรงแบกทานของดินจากสภาพของดินที่ปัญหาข้อนี้ได้กำหนดให้มา พบว่าดินมีลักษณะเป็นดินเหนียวที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรเป็นพิเศษ ประกอบกับค่า Df ซึ่งเท่ากับ 2.00 เมตร และค่า B มีค่าเท่ากับ 3.00 เมตร ทำให้อัตราส่วนระหว่างค่า Df ส่วน B นั้นมีค่าเท่ากับ

 

Df / B = 2 / 3 = 0.667 < 1.00 <OK>

 

ดังนั้นเราจึงสามารถที่จะทำการสรุปได้ว่าเราสามารถที่จะนำเอาวิธีการของ TERZAGHI มาใช้ในการคำนวณหาค่ากำลังรับแรงแบกทานของดินในปัญหาข้อนี้ได้

 

ต่อมาก็คือค่าสัมประสิทธิ์ในพจน์ต่างๆ เราก็ยังสามารถที่จะทำการเปิดหาได้จากตารางเหมือนในตัวอย่างได้เช่นกันนั่นก็คือ ในเมื่อค่า Ø เท่ากับ 28 องศา ดินจะมีตัวประกอบค่า Nc เท่ากับ 31.61 ค่า Nq เท่ากับ 17.81 และค่า Nγ เท่ากับ 13.70 นะครับ

 

หากดูแบบผิวเผินๆ เพื่อนๆ อาจจะยังมองไม่ออกว่า ปัญหาข้อนี้กับปัญหาข้อที่แล้วนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ทำให้ปัญหาข้อนี้มีความแปลกและแตกต่างออกไปจากปัญหาข้อก่อนหน้าจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการด้วยกันคือ

 

(1) ค่าของ SURCHARGE หรือว่าค่า q ซึ่งจะอยู่ภายในพจน์ที่สองของสมการคำนวณหาค่ากำลังแบกทานของดิน

 

ประการที่หนึ่งก็คือค่า q หรือค่าแรงดันของดินกระทำบนฐานรากนั่นเองครับ นั่นเป็นเพราะว่าหากผลการทดสอบดินของเรานั้นมีการระบุว่า ความสูงของระดับน้ำใต้ดินนั้นจะอยู่ระหว่างผิวด้านบนสุดของดินกับระดับที่ฐานรากนั้นมีการวางตัวอยู่ เราจำเป็นที่จะต้องปรับค่าของค่า q นี้จากเดิมที่ในปัญหาก่อนหน้านี้ค่า q นั้นมีค่าเท่ากับ

 

q = γ Df

 

ถูกต้องแล้วครับ พอมีน้ำอยู่ใต้ดินเต็มไปหมด เราต้องทำการปรับค่าๆ นี้ให้เป็นค่า EFFECTIVE SURCHARGE เสียก่อน ซึ่งค่า q’ ใหม่นี้จะมีค่ากลายเป็น

 

q’ = D1 γ + D2 [ γ(sat) – γ(w) ] <1>

 

จากสมการข้างต้นค่า D1 ก็คือระยะระหว่างผิวดินจนถึงระดับของน้ำใต้ดิน ซึ่งสำหรับปัญหาข้อนี้ค่าๆ นี้ก็จะมีค่าเท่ากับ 1.00 เมตร และค่า D2 ก็คือระยะจากระดับของน้ำใต้ดินจนถึงระดับที่ฐานรากนั้นมีการวางตัวอยู่ ซึ่งสำหรับปัญหาข้อนี้ค่าๆ นี้ก็จะมีค่าเท่ากับ 1.00 เมตร เช่นกัน ส่วนค่า γ(w) หรือ ค่าหน่วยน้ำหนักของน้ำต่อ 1 หน่วยปริมาตร เราทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่าค่าๆ นี้จะมีค่าเท่ากับ 1.00 ตันต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนตัวสุดท้ายที่เหมือนว่าจะติดและไม่ทราบค่าอยู่ก็คือค่า γ(sat) หรือ ค่าหน่วยน้ำหนักแบบอิ่มตัวของดินต่อ 1 หน่วยปริมาตร ซึ่งหากมีความต้องการที่จะทำการแก้ปัญหาข้อนี้ให้ได้ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ค่า γ(sat) นี้เองว่าจะมีค่าเท่ากับเท่าใด

 

ซึ่งหากเพื่อนๆ เห็นจากข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้มีการแทรกเข้ามาในโจทย์ข้อนี้ก็คือ ค่าสัดส่วนความพรุนของดิน หรือค่า POROSITY ซึ่งค่าๆ นี้เราจะแทนด้วยตัวแปร n และก็จะมีค่าเท่ากับร้อยละ 20 หรือพูดง่ายๆ คือ 20% ดังนั้นหากแทนให้เป็นค่าอัตราส่วน เราก็เพียงแค่ทำการหารค่าๆ นี้ด้วย 100 ก็จะได้ออกมาเป็น

 

n = Vv / V = e / ( 1 + e )

20/100 = e / ( 1 + e )

0.20 = e / ( 1 + e ) <2>

 

ดังนั้นหากเราเพียงแค่ทำการแก้สมการที่ <2> เราก็จะสามารถทำการคำนวณหาค่า อัตราส่วนช่องว่าง หรือค่า VOID RATIO ออกมาได้ ซึ่งค่าๆ นี้เราจะแทนด้วยตัวแปร e ดังนั้นค่าๆ นี้ก็จะมีค่าเท่ากับ

 

e = n / ( 1 – n )

e = 0.20 / ( 1 – 0.20 )

e = 0.25

 

จากนั้นก่อนที่เราจะดำเนินการคำนวณต่อในขั้นตอนต่อไป ผมอยากให้เรามาดูที่สมการตั้งต้นของค่า γ กันเสียก่อนว่าจะมีค่าเท่ากับ

 

γ = γ(w) ( Gs + Sr e ) / ( 1 + e ) ♥>

 

ซึ่งหากเรามีความต้องการที่จะทำการแทนค่าหา γ(sat) นั่นก็แสดงว่า ดินจะต้องมีค่าของระดับความอิ่มตัว หรือว่าค่า DEGREE OF SATURATION ซึ่งค่าๆ นี้เราจะแทนด้วยตัวแปร Sr ที่มีค่าเท่ากับ 100% หรือในอัตราส่วนที่มีค่าเท่ากับ 1.00 ซึ่งก็จะทำให้ค่า γ ในสมการที่ ♥> นั้นกลายเป็น γ(sat) และจะมีค่าเท่ากับ

 

γ = γ(sat)

γ(sat) = γ(w) ( Gs + Sr e ) / ( 1 + e )

γ(sat) = γ(w) ( Gs + 1.00 x e ) / ( 1 + e )

γ(sat) = γ(w) ( Gs + e ) / ( 1 + e ) <4>

 

จะพบว่าจากสมการที่ <4> นี้เราจะทราบตัวแปรทุกๆ ตัวแล้ว เราก็เพียงแค่ทำการแทนค่าลงไปในสมการๆ นี้ก็จะได้คำตอบของค่า γ(sat) แล้วละครับ

 

γ(sat) = γ(w) ( Gs + e ) / ( 1 + e )

γ(sat) = 1.00 x ( 2 + 0.25 ) / ( 1 + 0.25 )

γ(sat) = 1.80 T/M^(3)

 

จากนั้นเราก็เพียงแค่ทำการแทนค่าทุกๆ ค่าที่เราทราบและเพิ่งทำการคำนวณหาค่าได้มาตั้งแต่ต้นลงไปในสมการที่ <1> ก็จะทำให้ได้ค่า q’ ออกมาเท่ากับ

 

q’ = D1 γ + D2 [ γ(sat) – γ(w) ]

q’ = 1 x 1.50 + 1 x [ 1.80 – 1 ]

q’ = 2.30 T/SQ.M

 

ซึ่งหากเราทำการเปรียบเทียบค่า q’ ในปัญหาข้อนี้กับค่า q ในปัญหาข้อก่อนหน้านี้เราก็จะพบว่า ค่า q’ ในปัญหาข้อนี้จะมีค่าน้อยกว่าค่า q ในปัญหาข้อก่อนหน้านี้ซึ่งเท่ากับ 3.00 T/SQ.M ดังนั้นพอเราทำการคำนวณพจน์ที่สองนี้ใหม่เราจะพบว่าค่ากำลังแบกทานของดินนั้นจะมีค่าลดลงไปมากอย่างเห็นได้ชัดเลยนะครับ

 

(2) ค่าของ γ ซึ่งจะอยู่ภายในพจน์ที่สามของสมการคำนวณหาค่ากำลังแบกทานของดิน

 

ซึ่งก็จะมีความสอดคล้องกันกับเหตุผลในข้อแรก นั่นก็คือพอมีน้ำอยู่ใต้ดินเต็มไปหมด เราต้องทำการปรับค่าๆ นี้ให้เป็นค่า γ’ เสียก่อน ซึ่งค่า γ’ นี้จะมีค่าเท่ากับ

 

γ’ = γ(sat) – γ(w)

γ’ = 1.80 – 1.00

γ’ = 0.80 T/M^(3)

 

ซึ่งหากเราทำการเปรียบเทียบค่า γ’ ในปัญหาข้อนี้กับค่า γ ในปัญหาข้อก่อนหน้านี้เราก็จะพบว่า ค่า γ’ ในปัญหาข้อนี้จะมีค่าน้อยกว่าค่า γ ในปัญหาข้อก่อนหน้านี้ซึ่งเท่ากับ 1.50 T/M^(3) ดังนั้นพอเราทำการคำนวณพจน์ที่สามนี้ใหม่เราจะพบว่าค่ากำลังแบกทานของดินนั้นจะมีค่าลดลงไปมากอย่างเห็นได้ชัดเฉกเช่นเดียวกันกับในเหตุผลข้อแรกนะครับ

 

พอทำการปรับและคำนวณค่าต่างๆ ใหม่ตามเหตุผลทั้ง 2 ประการข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถที่จะนำค่าข้างต้นและข้อมูลที่ได้จากการทดสอบดินแทนค่าลงไปในสมการเพื่อทำการคำนวณหาค่ากำลังรับแรงแบกทานของดินได้แล้วซึ่งก็จะมีค่าเท่ากับ

 

qu = 1.3 c Nc + q Nq + 0.4 γ B Nγ

qu = 1.3 c Nc + q’ Nq + 0.4 γ’ B Nγ

qu = 1.3 x 2 x 31.61 + 2.3 x 17.81 + 0.4 x 0.8 x 3 x 13.70

qu = 82.19 + 40.96 + 13.15

qu = 136.30 T/SQ.M

 

ค่าข้างต้นนี้ถือได้ว่าเป็น ค่ากำลังแบกทานประลัย หรือ ULTIMATE BEARING CAPACITY และในเมื่อปัญหาข้อนี้กำหนดให้เราใช้ค่าสัดส่วนความปลอดภัยเท่ากับ 3.00 ในการคำนวณเฉกเช่นเดียวกันกับในปัญหาข้อก่อนหน้านี้ เราก็จะสามารถทำการคำนวณหา ค่ากำลังแบกทานที่ยอมให้ หรือ ALLOWABLE BEARING CAPACITY ได้จากการคำนวณค่า qu ส่วนด้วยค่าสัดส่วนความปลอดภัยซึ่งก็จะมีค่าเท่ากับ

 

qa = qu / SF

qa = 136.3 / 3.00

qa = 45.43 T/SQ.M

 

สุดท้ายเราก็จะสามารถทำการคำนวณหาค่ากำลังที่ยอมให้ของฐานรากได้จากการคูณค่า qa กับค่าพื้นที่รับแรงแบกทานของฐานรากซึ่งก็จะมีค่าเท่ากับ

 

Qa = qa x Af

Qa = qa x B x B

Qa = 45.43 x 3 x 3

Qa = 408.87 T

 

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าดินจะมีกรณีของน้ำใต้ดินที่เพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งก็จะทำให้ขั้นตอนในการคำนวณนั้นมีความยุ่งยากเพิ่มมากขึ้นอีกพอสมควรเลย ค่า Qa ซึ่งมีค่าเท่ากับ 408.87 ตัน ก็ยังมีค่าที่สูงกว่าค่าน้ำหนักบรรทุกใช้งานที่มีค่าเท่ากับ 400 ตัน อยู่ดี ถึงแม้ว่าค่าๆ นี้จะลดลงมาจากกรณีของปัญหาข้อก่อนหน้านี้มากๆ ก็ตาม ดังนั้นเราจึงอาจจะทำการสรุปได้ว่า ฐานรากต้นนี้ยังมีความปลอดภัยเพียงพอต่อการรับน้ำหนักดังกล่าวได้นั่นเองครับ

 

สุดท้ายนี้สิ่งหนึ่งที่ผมอยากที่จะชี้ให้แก่พวกเราทุกๆ คนได้เรียนรู้จากกรณีของปัญหาประจำสัปดาห์ข้อนี้ก็คือ “ระดับของน้ำใต้ดิน” จะมีผลเป็นอย่างมากต่อกรณีของการคำนวณหาค่ากำลังแบกทานของดิน ดังนั้นนี้เองจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งว่าเพราะเหตุใดผมจึงได้เรียนและเน้นย้ำกับเพื่อนๆ อยู่เป็นประจำในทุกๆ ครั้งว่า การทดสอบดินนั้นมีความจำเป็นอย่างมากต่อการคำนวณและออกแบบโครงสร้างฐานราก ทั้งฐานรากแบบตื้นและฐานรากแบบลึกเพราะข้อมูลต่างๆ ที่เราได้นำมาใช้ในการคำนวณข้างต้นเหล่านี้คงจะไม่มีใครสามารถที่จะนั่งเทียนเขียนขึ้นมาได้อย่างแน่นอน จะต้องมีการทำการทดสอบชั้นดินในห้องปฏิบัติการเสียก่อน จึงจะสามารถทราบได้ว่าชั้นดินของเรานั้นมีคุณลักษณะต่างๆ เป็นเช่นไรและมีสิ่งใดที่วิศวกรผู้ออกแบบอย่างเราๆ จะต้องพึงระมัดระวังในการออกแบบด้วยหรือไม่นั่นเองครับ

 

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากแก่เพื่อนๆ ทุกๆ ท่านจากคำถามในวันนี้น่าที่จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ

#การตอบคำถามทางวิชาการประจำสัปดาห์

#เฉลยคำถามประจำสัปดาห์เกี่ยวกับเรื่องความรู้และวิธีในการอ่านข้อมูลซึ่งจะรวมไปถึงการนำข้อมูลจากผลการทดสอบดินหรือBoringLogไปใช้งานในการคำนวณหาค่าความสามารถในการรับกำลังแบกทานของดินตามวิธีการของTerzaghi

ADMIN JAMES DEAN


บริษัท ภูมิสยาม ซัพพลาย จำกัด ผู้นำกลุ่มธุรกิจเสาเข็มสปัน ไมโครไพล์ รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO 45001:2018 การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การให้บริการตอกเสาเข็ม The Provision of Pile Driving Service และได้รับการรับรอง ISO 9001:2015 ของระบบ UKAS และ NAC รายแรกและรายเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองระบบบริหารงานคุณภาพ ตามมาตรฐานในกระบวนการ การออกแบบเสาเข็มสปันไมโครไพล์ การผลิตเสาเข็มสปันไมโครไพล์ และบริการตอกเสาเข็มเสาเข็มสปันไมโครไพล์ (Design and Manufacturing of Spun Micropile/Micropile and Pile Driving Service) Certified by SGS (Thailand) Ltd.

บริษัท ภูมิสยาม ซัพพลาย จำกัด คือผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในไทย ที่ได้รับการรับรองคุณภาพ Endoresed Brand จาก SCG ด้านการผลิตเสาเข็ม สปันไมโครไพล์ และได้รับเครื่องหมาย มาตรฐาน อุตสาหกรรม มอก. 397-2524 เสาเข็มสปันไมโครไพล์ Spun Micro Pile พร้อมรับประกันผลงาน และความเสียหายที่เกิดจากการติดตั้ง 7+ Year Warranty เสาเข็มมีรูกลมกลวงตรงกลาง การระบายดินทำได้ดี เมื่อตอกแล้วแรงสั่นสะเทือนน้อยมาก จึงไม่กระทบโครงสร้างเดิม หรือพื้นที่ข้างเคียง ไม่ต้องขนดินทิ้ง ตอกถึงชั้นดินดานได้ ด้วยเสาเข็มคุณภาพมาตรฐาน มอก. การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จากประเทศเยอรมัน เสาเข็มสามารถทำงานในที่แคบได้ หน้างานสะอาด ไม่มีดินโคลน เสาเข็มสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ 15-50 ตัน/ต้น ขึ้นอยู่กับขนาดเสาเข็มและสภาพชั้นดิน แต่ละพื้นที่ ทดสอบโดย Dynamic Load Test ด้วยคุณภาพและการบริการที่ได้มาตรฐาน เสาเข็มเราจึงเป็นที่นิยมในงานต่อเติม

รายการเสาเข็มภูมิสยาม

1. สี่เหลี่ยม S18x18 cm.

รับน้ำหนัก 15-20 ตัน/ต้น

2. กลม Dia 21 cm.

รับน้ำหนัก 20-25 ตัน/ต้น

3. กลม Dia 25 cm.

รับน้ำหนัก 25-35 ตัน/ต้น

4. กลม Dia 30 cm.

รับน้ำหนัก 30-50 ตัน/ต้น

(การรับน้ำหนักขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดินในแต่ละพื้นที่)

☎ สายด่วนภูมิสยาม:
082-790-1447
082-790-1448
082-790-1449
091-947-8945
081-634-6586

? Web:
bhumisiam.com
micro-pile.com
spun-micropile.com
microspunpile.com
bhumisiammicropile.com