กล่องแรงเค้นอัด WHITNEY REGTANGULAR STRESS BOX

สวัสดีครับแฟนเพจที่รักทุกท่าน

เมื่อวานนี้ตอนช่วงเย็นๆ ผมมีโอกาสได้สนทนากับผู้ร่วมวิจัยในระดับ ป เอก ท่านหนึ่งเรื่อง WHITNEY REGTANGULAR STRESS BOX แต่เพื่อนท่านนี้ทำหน้างงๆ เลยนึกขึ้นได้ว่าเพื่อนๆ เองก็อาจจะยังไม่รู้จักความหมายของคำๆ นี้เช่นกัน ผมจึงอยากหยิบเอาคำๆ นี้มาอธิบายในค่ำคืนนี้แล้วกันนะครับ

ก่อนอื่นผมต้องขอท้าวความไปที่หน้าตัดของคาน คสล ในสภาวะประลัยก่อนนะครับ จากผลการทำงานวิจัยในห้องปฏิบัติการพบว่าที่สภาวะการใช้งานของคาน ค่าการกระจายตัวของแรงเค้นอัดในหน้าตัด จะยังคงเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือเป็นเชิงเส้นอยู่แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อคานต้องรับน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นจนเข้าใกล้สภาวะประลัย ค่าของการกระจายตัวของแรงเค้นนี้จะเปลี่ยนรูปทรงเป็นพาราโบลาแทน (ดูในรูปที่แนบมานะครับ)

ซึ่งเราทราบดีว่ารูปทรงพาราโบลานี้คำนวณหาขนาดได้ยากกว่ารูปทรงสามเหลี่ยมมาก ในปี 1937 WHITNEY ซึ่งเป็นนักวิจัยท่านหนึ่งในยุคนั้นที่ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องๆ นี้จึงมีความคิดขึ้นมาว่า หากเรามีวิธีการประมาณการหรือแปลงค่าการกระจายตัวแบบพาราโบลานี้ให้อยู่ในรูปทรงของสี่เหลี่ยมซึ่งจะสามารถคำนวณหาขนาดของแรงเค้นนี้ได้ง่ายกว่ารูปทรงพาราโบลาค่อนข้างมาก ก็จะเป็นการง่ายต่อผู้ออกแบบที่จะทำการคำนวณและออกแบบหน้าตัด คสล ท่านจึงได้คิดทฤษฎีนี้ขึ้น จนเป็นที่มาของชื่อกล่องแรงเค้นอัดของ WHITNEY หรือ WHITNEY COMPRESSION STRESS BOX นั่นเองครับ

ในโอกาสถัดไปผมจะขอมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้เข้าใจถึงหลักการว่าด้วยความสมดุล หรือ EQUILIBRIUM ของหน้าตัด คสล กันบ้างนะครับ หากเพื่อนๆ ท่านใดมีความสนใจในประเด็นดังกล่าวก็สามารถติดตามกันได้นะครับ

หวังว่าความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ผมได้นำมาฝากเพื่อนๆ ทุกๆ ท่านในวันนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านไม่มากก็น้อย และ จนกว่าจะพบกันใหม่นะครับ

ADMIN JAMES DEAN